ลดน้ำหนักได้ ถ้ารู้จักฮอร์โมน

ความอ้วนไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกินเสมอไป  ฮอร์โมนหลายชนิดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น การเผาผลาญ ความอยากอาหาร การย่อยอาหาร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัว ซึ่งจะส่งผลตั้งแต่ความรู้สึกหิวจนถึงกระบวนการสะสมไขมัน ดังนั้นหากฮอร์โมนเหล่านี้ไม่สมดุล ก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราอ้วนได้

ฮอร์โมนที่มีผลกับน้ำหนัก

  • คอร์ติซอล (Cortisol) หรือ ฮอร์โมนความเครียด 

เมื่อรู้สึกเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล และสั่งการให้รู้สึกหิวและอยากกินอะไรที่หวานๆ มันๆ หรืออาหารจำพวกแป้งมากขึ้น จนเป็นสาเหตุที่ทำให้อ้วนขึ้นไม่รู้ตัว

วิธีแก้ : หาวิธีคลายเครียด เช่น ท่องเที่ยว นั่งสมาธิ หรือหางานอดิเรกทำ

 

  • เลปติน (Leptin) หรือ ฮอร์โมนความอิ่ม 

ทำหน้าที่ควบคุมความอยากอาหาร ซึ่งหากร่างกายมีภาวะต้านฮอร์โมนเลปติน ก็จะรู้สึกหิวตลอดเวลา กินเท่าไรก็ไม่รู้จักอิ่ม จึงนำมาซึ่งโรคอ้วนและน้ำหนักเกินในที่สุด 

วิธีแก้ : พักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7-8 ชั่วโมง หากนอนน้อยก็จะยิ่งอยากกินอาหารเพิ่มมากขึ้น

 

  • เกรลิน (Ghrelin) หรือ ฮอร์โมนความหิว

ทำให้เรารู้สึกอยากกินอาหารต่างๆ ซึ่งเกรลินจะหลั่งมากเป็นพิเศษในขณะที่เรารู้สึกเครียด วิตกกังวล ทำงานหนัก นอนดึก พักผ่อนน้อย ส่งผลให้เรารู้สึกหิวง่ายและอยากกินนู่นกินนี่ตลอดเวลา ทั้งที่กินจนอิ่มแล้ว

วิธีแก้ : เพิ่มการกินโปรตีน แบ่งมื้ออาหารออกเป็นมื้อย่อยเล็กๆ ไม่นอนดึก และไม่เครียด 

 

  • โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone)

ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโต ฟื้นฟู และซ่อมแซมร่างกายในขณะนอนหลับลึก ที่สำคัญคือช่วยเผาผลาญไขมัน ดังนั้นหากนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะขาดโกรทฮอร์โมน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายหลั่งอินซูลินมากขึ้น ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง ส่งผลให้มีไขมันสะสมมากขึ้น

วิธีแก้ : นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดโกรทฮอร์โมน

 

  • ไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid Hormone)

ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่ผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด ช่วยควบคุมการเผาผลาญพลังงาน อุณหภูมิร่างกาย ระดับไขมันในเลือด อารมณ์ความรู้สึก รวมถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ดังนั้น หากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ผลิตฮอร์โมนออกมาได้น้อย ความสามารถในการเผาผลาญพลังงานก็จะต่ำกว่าปกติ น้ำหนักตัวก็จะเพิ่มขึ้น

วิธีแก้ : กินยาควบคุมการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ให้เป็นปกติ เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง

 

สรุป ดูแลฮอร์โมนเท่ากับดูแลรูปร่าง เพราะหากต่อมผลิตฮอร์โมนตัวใดตัวหนึ่งบกพร่องไป ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของต่อมอื่นๆ จนกระทบต่อระบบเผาผลาญและไขมันสะสมในร่างกาย 

ข้อแนะนำที่ควรทำเพื่อดูแลฮอร์โมนให้ทำงานเป็นปกติ

  1. กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะโปรตีนไขมันต่ำที่ดี เช่น เนื้อปลา เต้าหู้ ถั่ว และอาหารที่มีกากใยสูงจากผัก ผลไม้
  2. หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เช่น ของทอด ของมัน ขนมเบเกอรี่ น้ำหวาน น้ำอัดลม
  3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 7-8 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง และไม่อดนอนติดต่อกันหลายวัน

ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด รู้จักปล่อยวาง ทำกิจกรรมผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ ด้วยการนั่งสมาธิ ออกกำลังกาย ออกไปท่องเที่ยว พบปะเพื่อนฝูง หรือทำงานอดิเรก

อ้างอิง : https://www.bdmswellness.com/th/health-guide/