อาการหิวเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังจากการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จนร่างกายเหนื่อยล้าและขาดแคลนพลังงาน แต่หากบางคนกินจุและมีอาการหิวบ่อยทั้งๆ ที่เพิ่งรับกินไปไม่นาน นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างของร่างกาย
เหตุผลที่ทำให้เกิดอาการหิวบ่อยอาจเกิดจาก
1.อาหารประเภทไขมันสูง เต็มไปด้วยน้ำตาล
ทำให้เกิดอาการหิวบ่อยได้ง่าย เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และร่างกายนำไปเผาผลาญเป็นพลังงานไม่ทัน เช่น คุกกี้ ขนมปังขาว เบเกอรี่ ฟาสต์ฟู๊ด เป็นต้น
เทคนิค
เปลี่ยนการกินจากคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวมาเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ขนมปังโฮลวีต และกินผักผลไม้ให้หลากสีมากขึ้นจะช่วยทำให้อิ่มท้องได้นาน
กระตุ้นให้อยากอาหารมากกว่าปกติ จนส่งผลทำให้หิวบ่อย โดยเฉพาะยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน ยารักษาอาการซึมเศร้าในกลุ่ม SSRIs ยารักษาโรคเบาหวานบางตัว ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาระงับอาการทางจิต ยา เบต้า บล็อกเกอร์
เทคนิค
แบ่งกินอาหารเป็นมื้อย่อยๆ แทนการกินมื้อหลักแค่ 3 มื้อ และเลือกแต่สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อแก้ปัญหาการหิวกินจุบจิบระหว่างวัน หากยังไม่ดีขึ้นอาจปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการในการปรับอาหารหรือตัวยา
3.ตั้งครรภ์
คุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือประมาณสัปดาห์ที่ 17 จะเริ่มกินอาหารจุมากกว่าปกติ เพื่อนำมาเสริมสร้างร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์ ส่งผลให้อาจมีน้ำหนักขึ้น
เทคนิค
มีหลายสาเหตุที่ต้องพิจารณาแตกต่างกันออกไปแต่ละคน จึงควรปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการที่ดูแลโดยตรง เกี่ยวกับน้ำหนักที่เหมาะสมในระหว่างตั้งครรภ์จะดีที่สุด
4.ทิ้งช่วงระหว่างมื้ออาหารนานเกินไป
ทำให้ร่างกายเกิดความอยากอาหารมากกว่าปกติ เพราะร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน “เกรลิน”(Ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนกระตุ้นความอยากอาหาร เข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร เมื่อเกิดการหลั่งออกมาเป็นปริมาณมาก จะทำให้รู้สึกหิวและกินอาหารมากกว่าปกติ
เทคนิค
กินอาหารให้ตรงเวลา ถ้าหากไม่มีเวลาจริงๆ อาจหาผลไม้หรือขนมปังกินรองท้อง เพื่อไม่ให้ฮอร์โมนเกรลินหลั่งเยอะเกินไป
5.พักผ่อนไม่เพียงพอ
ทำให้ร่างกายเพิ่มระดับฮอร์โมนเกรลินที่ควบคุมความอยากอาหารให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดระดับฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม ซึ่งเมื่อขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอจึงมักเกิดความอยากอาหารมากขึ้น
เทคนิค
หลับให้เพียงพอวันละ 7-8 ชั่วโมง เพื่อปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายและช่วยลดอาการหิวบ่อยให้น้อยลง
6.ความเครียด
ทำให้ระดับฮอร์โมนความเครียด “คอร์ติซอล” (Cortisol) และ “อะดรีนาลีน” (Adrenaline) เพิ่มขึ้น ร่างกายจึงต้องการพลังงานมากขึ้น จึงไปกระตุ้นให้เกิดความอยากกินอาหารตามมา ขณะเดียวกัน ความเครียดยังยับยั้งการหลั่งเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทจากสมองที่มีหน้าที่หลายอย่าง รวมทั้งควบคุมความหิวในร่างกาย เมื่อสารชนิดนี้มีปริมาณน้อย ทำให้ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น จึงเกิดอาการหิวบ่อยตามมา
เทคนิค
พยายามผ่อนคลายความเครียดต่างๆ และพยายามควบคุมความอยากอาหารให้ได้ ทั้งนี้ การพักผ่อน การฟังเพลง และออกกำลังกายสามารถช่วยลดความเครียดได้
7.ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
โรคเกรวฟส์ (Graves’ Disease) หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) ซึ่งผู้ที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติจะมีอาการหิวบ่อยร่วมกับอาการอื่น เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกง่าย ชีพจรเต้นเร็ว คอบวม เหนื่อยง่าย กระหายน้ำหลังดื่มน้ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
เทคนิค
ปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการในการกินอาหาร และพยายามคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
8.อาการก่อนมีประจำเดือน
กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome: PMS) มักมีอาการหิวบ่อยและความอยากอาหารที่มากขึ้น รวมถึงอาการอื่นๆ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย
เทคนิค
ควรออกกำลังกายและการเลือกกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ หากพบว่าอาการเหล่านี้เป็นรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีการบรรเทาอาการอย่างถูกวิธี
สรุป
ข้อมูลข้างต้นอาจเป็นเพียงบางส่วนที่ทำให้เกิดอาการหิวบ่อย ดังนั้นผู้ที่รู้สึกหิวบ่อยกว่าปกติ แต่ไม่พบความเกี่ยวข้องทางร่างกายหรือเกิดขึ้นเป็นเวลานานโดยไม่รู้สาเหตุ ควรปรึกษาแพทย์ในเบื้องต้น เพื่อช่วยประเมินความผิดปกติที่เกิดขึ้น
เรียบเรียงโดย : เพจออกจากความเป็นหมู