มีการศึกษาหนึ่งพบว่าการอดนอนหรือนอนหลับไม่เพียงพอ มีผลต่อความหิวที่เพิ่มขึ้น ทำให้อยากกินจุบจิบและอาหารรสหวาน
เมื่อนอนไม่เพียงพอ จะมีการเปลี่ยนแปลงของสมดุลฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย
ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความหิวและอิ่มมี 3 ตัว ดังนี้
– Leptin ลดระดับความหิวของร่างกาย ทำให้ไม่อยากอาหาร
– Ghrelin หากหลั่งออกมามากขึ้น จะทำให้รู้สึกหิว
– Cortisol หลั่งเมื่อมีความเครียดจากปัจจัยต่างๆ มีผลต่อการสะสมไขมัน และกระตุ้นความอยากอาหาร
หลักการทำงานของฮอร์โมน
เมื่อร่างกายขาดการนอนหลับที่เพียงพอ จะเกิดการสร้าง Ghrelin มากขึ้น รวมทั้งมีระดับของ Leptin ลดลง ทำให้เกิดปัญหาการกินที่มากเกินไปได้ ซึ่งจากการศึกษาเมื่อปี 2004 พบว่า ในคนที่นอนน้อยกว่าจะมีระดับของ Ghrelin สูงกว่ากลุ่มที่นอนเพียงพอถึง 14.9% รวมทั้งพบว่าระดับฮอร์โมน Leptin นั้นก็ต่ำกว่ากลุ่มที่นอนเพียงพอถึง 15.5% ด้วย
นอกจากนี้มีการศึกษาในวารสาร Sleep ปี 2016 โดย Hanlon EC และคณะพบว่า การอดนอนจะกระตุ้นให้ระบบ endocannabinoid ทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายกับการเสพติดฝิ่นและทำให้สมองมีความอยากอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีพลังงานสูง เช่น อาหารที่มีไขมันมากๆ ของทอด และเพิ่มความเสี่ยงในการสะสมไขมันรอบเอว อันจะนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ ตามมา
เรียบเรียงโดย : เพจออกจากความเป็นหมู
อ้างอิง : เพจเมื่อวานนี้ทานอะไร?